บล็อก - allgroupthailand.com
บทความเกี่ยวกับกฎหมาย
บทความเกี่ยวกับกฎหมาย

การไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะนำเกร็ดความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ มาเล่าสู่กันฟัง ถ้าจะพูดถึงเรื่องการประนีประนอมสำหรับคนไทยนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ถ้าพูดถึงระบบเจ้าโคตร หลายคนอาจจะไม่รู้จัก

ระบบเจ้าโคตร เป็นระบบการจัดการความขัดแย้งในชุมชนซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยจะใช้ผู้ใหญ่ที่นับถือกันในตระกูล มาเป็นคนกลางในการสอบสวนทวนความ และเสนอแนะเพื่อหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งของคนในชุมชนนั้น ๆ ให้ยุติกันด้วยดี ซึ่งปัญหาความขัดแย้งในชุมชนที่สามารถยุติกันได้ในระบบเจ้าโคตร ส่วนหนึ่งก็มาจากการให้ความเคารพในระบบอาวุโส และความเป็นญาติผู้ใหญ่ในชุมชนที่มีใจเป็นธรรม และส่วนหนึ่งก็คงมาจากนิสัยใจคอของคนไทยซึ่งมีความโอบอ้อมอารี ถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งได้ถูกอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ตกทอดกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้

ช่วงปี ๒๕๔๑ ทางราชการได้จัดให้มี อาสาสมัครไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชนขึ้น หรือที่มีชื่อย่อว่า อกช. ไม่แน่ใจว่าผู้อ่านพอจะรู้จักหรือได้ยินชื่อนี้กันบ้างหรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่าหลายคนอาจไม่จะรู้จัก เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักกับ อกช. นี้กันไว้เป็นความรู้ก็แล้วกัน เผื่อว่าวันนึงตัวเราเอง หรือเพื่อนบ้านเรามีข้อขัดแย้งกันในชุมชน เราอาจจะต้องไปพึ่งพา อกช. เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งให้เราก็ได้

อกช. คือใคร ? อาสาสมัครไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน ชื่อก็บอกไว้แล้วว่า อาสาสมัคร แล้วใครบ้างจะเป็นอาสาสมัครได้ อันนี้สำคัญ ผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน ก็ต้องเป็นผู้ที่มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรม และมีจริยธรรม เป็นที่ยอมรับนับถือของคนในชุมชนนั้น ๆ อาจจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้อาวุโส ประจำชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นก็ได้ และที่สำคัญอีกอย่างคือ ต้องเป็นจิตอาสาที่ต้องการเข้ามาช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน อกช. ก็จะมีภาระหน้าที่เหมือนกับเจ้าโคตรในสมัยเก่าก่อน โดยมุ่งหวังให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในชุมชน และสร้างความสงบสุขให้กับสังคม สำหรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชนนั้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะในประเทศไทยของเราประเทศเดียวนะครับ ในต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ สหรัฐเอมริกา ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย หรือประเทศญี่ปุ่น ก็มีหน่วยงานเพื่อการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทในชุมชนเช่นเดียวกัน แต่จะมีข้อแตกต่างกันในส่วนของรูปแบบของผู้ไกล่เกลี่ยบางประเทศก็จะใช้ทนายความเป็นผู้ไกล่เกลี่ยบ้าง หรือมีการตั้งเป็นคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ไกล่เกลี่ยบ้าง หรือใช้เป็นอาสาสมัครบ้างก็แล้วแต่รูปแบบและความเหมาะสมของชุมชนท้องถิ่นในแต่ละประเทศ

ข้อพิพาทอะไรบ้างที่จะนำไปให้ อกช. ช่วยไกล่เกลี่ย หลัก ๆ ก็เป็นเรื่องข้อพิพาททางแพ่ง ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการไกล่เกลี่ยได้ทุกประเภท ตั้งแต่คดีครอบครัว มรดก เรื่องที่ดิน หรือเรื่องอื่น ๆ ส่วนคดีอาญา ก็สามารถนำไปให้ อกช. ไกล่เกลี่ยได้ แต่ต้องเป็นคดีอาญาที่ยอมความกันได้

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน ถือว่ามีข้อดีและมีประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในชุมชน เพราะถ้าหากคู่กรณีสามารถเจรจาตกลงยุติข้อขัดแย้งกันได้ ก็ไม่ต้องเสียเงินเสียทองว่าจ้างทนายความ มาฟ้องร้องดำเนินคดีต่อกัน อีกทั้งไม่ต้องมาเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาล ซึ่งกว่าคดีจะเสร็จสิ้นก็ใช้เวลากันหลานเดือนหลายปี ท่านที่เคยมีประสบการณ์เรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลก็คงพอเข้าใจได้ดี

ปัจจุบัน การไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ ที่ศาลก็ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้โจทก์และจำเลย สามารถยุติข้อพิพาทและสร้างสมานฉันท์ให้แก่คู่ความทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว แต่การเจรจาไกล่เกลี่ยในชั้นศาลนั้น อาจจะเกิดขึ้นโดยผ่านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชนมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ หรือคู่กรณีไม่ได้ใช้วิธีการไก่ลเกลี่ยข้อพิพาทในชุมชนมาก่อน อาจจะเป็นเพราะไม่ทราบว่ามีหน่วยงานอาสานี้อยู่ในชุมชน หรือคู่กรณีบางรายอาจจะทราบแต่ไม่ใช้ เพราะต้องการไปคุยกันที่ศาลอย่างเดียวก็ได้ โดยปกติแล้วเมื่อคู่กรณีมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกันที่ศาลแล้ว ศาลก็จะเปิดโอกาสให้คู่ความได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันเสียก่อนที่จะมีการไต่สวนหรือสืบพยาน ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของคู่ความทั้งสองฝ่ายนั้นแหละครับ ซึ่งทุกศาลจะมีศูนย์ไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาทประจำศาลไว้เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของคู่ความ แต่การไกล่เกลี่ยจะสำเร็จหรือไม่ก็ต้องอยู่ที่การตัดสินใจของตัวความแต่ละคนครับ ระบบการไกล่เกลี่ยจะไม่สามารถบังคับให้คู่ความทุกฝ่ายหรือแต่บางฝ่ายยินยอมยุติข้อพิพาทได้ เพราะการประนีประนอมยอมความต้องเกิดจากการตกลงปลงใจ ของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย เพื่อยุติข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทต่อกัน สำหรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นศาลนั้น ปัจจุบันจะเกิดขึ้นเมื่อคู่กรณีได้มีการยื่นฟ้องคดีศาลแล้ว แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการเจรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนยื่นฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งปัจจุบันทางสำนักงานศาลยุติธรรม ก็ได้มีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้แพร่หลายแก่ประชาชนอยู่ครับ ขณะนี้ทางศาลยุติธรรมอยู่ระหว่างการร่างระเบียบศาลยุติธรรม เรื่องการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง มาใช้บังคับในเร็ว ๆ นี้

ผมเองได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนา กับสำนักงานศาลยุติธรรม ในหัวข้อ “แนวทางการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องของศาลยุติธรรม” เมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ก็เห็นว่าแนวทางการไกล่เกลี่ยเป็นประโยชน์กับคู่กรณีทุกฝ่าย และอาจจะมีออกเป็นกฎหมายและนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่อย่างไรก็ตามในการสัมมนาก็มีการพูดถึงปัญหาในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องว่ายังมีปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายอยู่พอสมควร เช่นเรื่องอายุความ เพราะในการเจรจากันอาจใช้ระยะเวลาพอสมควรโดยเฉพาะในคดีใหญ่ ๆ หรือคดีที่มีทุนทรัพย์พิพาทกันสูง ๆ เพราะหากระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ อายุความฟ้องร้องคดีของเจ้าหนี้อาจจะขาดลงไปเสียก่อน สุดท้ายเจ้าหนี้ก็ยังคงต้องใช้สิทธิยื่นฟ้องคู่กรณีต่อศาลอยู่ดี ซึ่งหากจะนำแนวทางการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องมาใช้ ก็คงต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้รองรับกับปัญหาเรื่องอายุความที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยให้สอดคล้องเสียก่อน นอกจากนี้ก็อาจจะมีเรื่องค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมศาลในการไกล่เกลี่ยเป็นต้น ก็ต้องคอยติดตามข่าวสารความคืบหน้าเรื่องนี้กันต่อไป

เกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ คงเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยนะครับ ไว้โอกาสหน้าจะนำเกร็ดความรู้ทางกฎหมายมาเล่าสู่กันฟังใหม่ สวัสดีครับ

โดย ปฏิคม ฟองโหย
website : www.dlo.co.th

ย้อนกลับ